เรียนบัญชียากไหม? ต้องเก่งอะไรบ้าง?
‘การบัญชี’ ถือเป็นวิชาที่มีความเฉพาะเจาะจงและมีรายละเอียดที่ซับซ้อน อีกทั้งยังสามารถแตกศาสตร์ความรู้ออกไปได้หลายแขนงอย่างมาก เช่น ภาษีอากร ตรวจสอบบัญชี กฎหมาย เป็นต้น ซึ่งในบทความนี้ผมอยากจะอธิบายในมุมมองของผมว่าวิชาบัญชียากแค่ไหนและหากเราอยากจะเรียนบัญชีเราต้องเก่งอะไรบ้าง
เรียนบัญชียากไหม?
การบัญชีเป็นสาขาวิชาที่เน้นใช้ความจำ ความละเอียด ความเข้าใจ มีรูปแบบตายตัว เพราะต้องปฎิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด และนักบัญชีต้องนำสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง มาวิเคราะห์และแปลภาษาออกมาให้อยู่ในรูปแบบของภาษาบัญชี หรือ เดบิท เครดิต นั่นเอง!
แต่ผมขอทำความเข้าใจก่อนว่า ‘ความยากง่าย’ ในความหมายของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และเพื่อให้เราสามารถเปรียบเทียบกันได้
ในมุมมองของผม ความท้าทายของนักบัญชีก็คือ การวิเคราะห์ภาษาและทำการเชื่อมโยงระหว่าง ‘โลกธุรกิจ’ และ ‘โลกที่มีแต่เดบิท เครดิตหรือหลักการบัญชีคู่’ (Double Entry Approach) ให้ทั้งสองฝั่งนั้นเข้าด้วยกัน พูดอีกแบบนึงก็คือ ถ้ากิจการทำการขายของ ซื้อของ ออกโปรโมชั่นต่าง ๆ หรือกระทำการใด ๆ ก็ตามบนโลกธุรกิจ นักบัญชีมีหน้าที่วิเคราะห์และแปลงสิ่งเหล่านั้นออกมาให้อยู่ในรูปแบบของตัวเลขให้ได้มากที่สุด โดยที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจนั้นเข้าใจได้ด้วย
คำว่าความยากหรือคำว่าง่ายแค่ไหนอาจไม่มีอยู่จริง แต่ถ้าเราเปลี่ยนคำถามเป็น
เนื้อหาของบัญชีที่สอน เหมาะกับความชอบหรือทักษะของเราแค่ไหน ?
อาจจะพอทำให้เราสามารถประเมินได้เลยว่าเราควรไปต่อในสายนี้หรือเบนเข็มไปในสายอาชีพอื่นดี ซึ่งในหัวข้อต่อไปผมจะมาวิเคราะห์กันว่า เราต้องเก่งอะไร ต้องชอบอะไร ถึงจะเหมาะกับการเรียนบัญชี
เรียนบัญชีต้องเก่งอะไรบ้าง?
ในส่วนนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมจะขอแนะนำทักษะต่าง ๆ ที่หากเรามีแล้ว ชีวิตด้านการเรียน ด้านบัญชีจะสบายมากขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิชาที่เรียนแล้วก็เนื้อหารายละเอียดอีกทีนึงด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางวิชาอาจจะเน้นการคำนวณเลขเยอะ แต่บางวิชาก็อาจจะเน้นเรื่องการทำความเข้าใจ เป็นต้น
- การทำความเข้าใจในธุรกิจ
หากเป็นไปได้อยากแนะนำให้ทุกคนลองเริ่มอ่านและทำความเข้าใจจากการอ่าน รายงานประจำปี หรือ แบบ 56-1 ที่แต่ละบริษัทได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการทดสอบว่าเราพอจะอ่าน ทำความเข้าใจในธุรกิจนั้นได้หรือไม่ เช่น เข้าใจในวิธีการสร้างยอดขาย ค่าใช้จ่ายใดเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ เป็นต้น และในโลกความเป็นจริง การที่เราทำความเข้าใจเพียงแค่หลักการซื้อมาขายไปแบบพื้นฐาน ไม่ได้ทำให้คุณแตกต่างไปจากนักบัญชีรอบตัวคุณเลย
- การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล
ตรรกศาสตร์ถือเป็นวิชาที่ทำให้ระบบความคิดของเรา เกิดการเรียบเรียง และเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่นำความคิดเห็น หรือแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือมาใช้ประกอบการบันทึกบัญชี
- การเงิน
ในบางครั้งเราก็ต้องบันทึกบัญชีให้ได้ แม้ว่าในปัจจุบันเราอาจจะยังไม่มีข้อมูลตัวเลขก็ตาม แต่เราสามารถใช้การคาดการณ์ในอนาคตได้และแน่นอนว่าต้องมีความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน เช่น การหามูลค่าปัจจุบัน(PV) หรือ การหามูลค่าในอนาคต(FV) เป็นต้น
- ภาษาอังกฤษ
ไม่อาจปฎิเสธได้เลยว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่เราควรรู้อย่างน้อย ๆ ในระดับเบื้องต้นก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะ บัญชีจะมีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้กันอยู่ไม่มาก หากคุ้นชินแล้ว เรามักจะใช้การพูดทับศัพท์มากกว่าการพูดชื่อเต็มตามภาษาไทยของมันเสียด้วยซ้ำ เพราะ เราไม่ต้องมาคอยอธิบายหรือแปลความหมายซ้ำอีกแล้ว เช่น Tax Invoice หรือชื่อภาษาไทย คือ ใบกำกับภาษี หากนักบัญชีได้เห็นคำนี้ ก้คงเข้าใจได้เลยโดยไม่ต้องมาอธิบายขยายความอะไรเพิ่มเติม
ไม่เก่งเลข เรียนบัญชีได้ไหม?
ขอแค่กดเครื่องคิดเลขให้ถูก และสามารถแก้สมการตัวแปลเดียวแบบพื้นฐานได้ เราก็สามารถเรียนบัญชีได้แล้ว สำหรับวิชาที่เน้นการคำนวณเป็นหลัก เช่น บัญชีต้นทุน ซึ่งอาจจะทำให้เรามีคะแนนที่ไม่ดีบ้าง กาเตรียมความพร้อมมาก่อนล่วงหน้าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
โดยพื้นฐานแล้วส่วนมากเราก็จะใช้การบวกลบคูณหาร คิดหาตัวเลข และสรุปออกมาในรูปของรายงานทางบัญชีให้ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื้อหาวิชาบัญชีนั้นขึ้นอยู่กับมหาลัยที่สอนและตัวอาจารย์ที่สอนด้วย เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะสมัครเรียน เราก็ควรจะอ่านและศึกษาใน ‘รายละเอียดหลักสูตร’ (Course Syllabus) อีกทีด้วยนะครับ
สรุปสั้น ๆ ความยากง่ายของวิชาบัญชีแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่อยากให้เราทำการสังเกตตัวเองอยู่เสมอว่าเรานั้นเหมาะสมกับสาขาวิชาบัญชีนี้หรือไม่ หากเราลองพยายามเต็มที่อย่างสุดความสามารถแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกไม่ใช่ อย่างน้อย ๆ เราก็ได้ความรู้ติดตัวเราไปทุกที่ หากในอนาคตได้มาพบปะกับชาวบัญชี ก็สามารถมั่นใจได้เลยว่าเราเองก็สามารถพูดคุย สื่อสารกับชาวบัญชีได้อย่างแน่นอน